เผาตอซัง..ส่งผลเสียมากกว่าได้

เกษตร
เผาตอซัง..ส่งผลเสียมากกว่าได้

สวัสดีครับ สำหรับชุมชนคนรักเกษตรทุกท่าน กิจกรรมของเกษตรกรชาวนาทำหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ว ก็คือการเผาฟางข้าวทิ้งในแปลงนา ด้วยความเข้าใจว่าการเผาฟางจะเป็นการตัดวงจรของโรคและแมลง โดยเฉพาะหนอนกอที่ซ่อนตัวอยู่ในโคนตอซังข้าว เพื่อเตรียมที่จะปลูกพืชในรุ่นต่อไป รวมทั้งเป็นการเพิ่มแร่ธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียม ซึ่งเป็นเถ้าถ่านอยู่ในนาจะช่วยให้ต้นข้าวแข็งแรง แต่ดินจะสูญเสียธาตุคาร์บอน ไนโตรเจน และกำมะถัน ซึ่งจะระเหยไปในรูปของแก๊ส เราจะต้องซื้อปุ๋ยดังกล่าวมาใส่ทดแทนในนาข้าว หากแต่ข้อดีต่างๆ ข้างต้นนี้ เทียบกับการไม่เผาตอซัง ทราบหรือไม่ครับว่า น้ำหนักของสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือโทษ อย่างไหนจะมีมากกว่ากัน วันนี้มีคำตอบครับ

หากการเผาตอซังเป็นการลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช นั้น เราสามารถแก้ไขได้โดยการปลูกพืชหมุนเวียน แทนการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำที่เดิม ทุกปี ที่อาจจะทำให้การระบาดของโรคและแมลงเพิ่มขึ้น หากเราไม่เผาตอซัง เราจะได้ประโยชน์จากฟางข้าวตอบแทนอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะดินในนาที่นับวันจะเสื่อมลงไปทุกๆปีครับ

สำหรับฟางข้าวที่เป็นเศษเหลือจากการนวดข้าว เกษตรกรจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง เช่น เป็นอาหารให้กับโค กระบือ ใช้ในงานอุตสาหกรรมทำกระดาษ เป็นวัสดุคลุมดินในแปลงผัก ทำโครงพวงหรีดดอกไม้ แต่ประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ ผู้ที่นำไปใช้ประโยชน์จริงๆ มีไม่มากเท่ากับการให้มันถูกเผาทำลาย ด้วยเหตุผลที่ว่าการเผาฟางจะช่วยทำลายวัชพืช และเมล็ดพืชที่ตกค้างอยู่ในนา และเพื่อความสะดวกในการทำนาหรือทำไร่ในฤดูต่อไป การที่เราเผาสิ่งที่ยู่ในผืนนานั้น ดินนาก็ย่อมจะเสื่อมลงอย่างแน่นอน ซึ่งมีความร้อนถึง 700 องศาเซลเซียส จะทำให้จุลินทรีย์ในดินตาย อินทรีย์วัตถุในนาก็จะลดลงทุกปี โดยไม่มีการเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน แต่ใส่ปุ๋ยเคมีทดแทนลงไป ในนาข้าว ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว จะไปช่วยเร่งให้จุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้หมดเร็วยิ่งขึ้น สภาพการณ์นี้เองครับที่จะส่งเสริมให้ดินนาเกิดการแข็งตัว ทำให้ดินแน่น การระบายน้ำและอากาศในดินไม่ดี ทางแก้ไขที่ต้องทำต่อมาคือ ต้องใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับการไถกลบฟางข้าว เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและเสียเวลามากยิ่งขึ้น แต่หากจะมีคำถามว่า หากเราไม่เผาฟางในนาข้าวมีประโยชน์อย่างไร ? …ประโยชน์มีมากมายครับ เพราะฟางช่วยทำให้ผืนนาที่ถูกฟางปกคลุมมีสภาพจุลนิเวศน์ เหนือผิวดิน มีความเหมาะสมต่อการที่สิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ ไส้เดือน กิ้งกือ มีชีวิตอยู่และขยายพันธุ์ออกไป ทำให้เกิดการย่อยดินให้ร่วนซุยสามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี  ฟางข้าวจะช่วยควบคุมพืชที่เป็นวัชพืชในนาข้าวไม่ให้งอก เจริญเติบโต โดยฟางที่คลุมผืนนาจะบดบังแสงแดด ไม่ให้ส่องถึงและยังจะช่วยรักษาความชื้นของ ดินในนาให้อยู่ได้นาน ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวมีน้ำเพียงพอแม้จะมีสภาวะแห้งแล้งติดต่อกันก็ตาม ต้นข้าวก็สามารถเจริญงอกงามให้ผลผลิตสูงกว่าการเปิดดินโดยปราศจากฟางข้าว คลุมดิน ความชื้นในสภาพคลุมฟางในนาข้าวหลังเก็บเกี่ยวมีเพียงพอที่จะปลูกพืชตระกูลถั่วอายุสั้น โดย เฉพาะถั่วเขียว ซึ่งมีอายุ 60 วัน หรือพืชหมุนเวียนอื่นๆ ที่จะช่วยในเรื่องการลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้ โดยปลูกหลังจากที่ได้ไถฟางกลบลงไปในดินแล้ว การปลูกพืชตระกูลถั่วหลังการทำนายังใช้น้ำน้อยและเพิ่มไนโตรเจน โดยเชื้อจุลินทรีย์ที่ปมรากถั่วจะตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นปุ๋ยในดิน และจะเติบโตได้ดีในสภาพที่ไถกลบฟางข้าวหมาดๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไนโตรเจนกับถั่วเลย ส่วนปุ๋ยฟอสเฟสจะได้จากปุ๋ยที่ตกค้างจากปีที่ผ่านมา ข้อดีของการปลูกพืชหมุนเวียนอีกประการหนึ่งก็คือ พืชจะมีทั้งรากตื้นและรากลึก ซึ่งจะช่วยตรึงอาหารที่อยู่ในดินชั้นล่างขึ้นมาชั้นบนซึ่งมีธาตุอาหารที่มีประโยชน์อยู่ รากต้นพืชก็พลอยได้รับประโยชน์ด้วยทำให้ดินได้อาศัยจุลินทรีย์ในธรรมชาติตอบสนอง คือ ทำให้อินทรีย์วัตถุกลายเป็นปุ๋ย ทำให้ปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆนอกจากนั้นธาตุซิลิกาที่มีอยู่ในฟางข้าวซึ่ง เป็นประโยชน์ได้ดีกว่าซิลิกาในขี้เถ้าฟางก็จะช่วย ให้ต้นข้าวแข็งแรงสามารถชูต้นรับแสงได้อย่างทั่วถึง ทำให้ทนต่อการทำลายของโรคและแมลงในนาข้าวได้ด้วย

     และที่สำคัญนอกเหนือจากที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ฟางข้าวช่วยทำให้ปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินนามีมากขึ้น ดินมีความชื้นพอเหมาะ การย่อยสลายจะเร็ว และไม่เกิดสารพิษ จุลินทรีย์จะช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในนา ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าวหรือวัชพืชให้เน่าเปื่อย กลายเป็นปุ๋ยคลุกเคล้าลงไปในดิน เป็นแหล่งอาหารและพลังงานให้จุลินทรีย์ตรึงธาตุไนโตรเจนมาเป็นปุ๋ยและให้ ธาตุอาหารให้แก่ข้าว สร้างความเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงขึ้น

     ฟางข้าวยังเป็นอาหารของโค กระบือ โดยเฉพาะในช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสด และเมื่อมันถ่ายมูลออกมาก็จะเป็นปุ๋ยคอกที่จะช่วยเพิ่มค่าให้แก่ดินในนาข้าว ได้อย่างดี สำหรับผู้ที่มีอาชีพการเพาะเห็ด วัสดุในการเพาะเห็ดฟางที่เป็นฟางนี่แหละครับ สามารถนำไปใช้ได้ และยังนำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักในนาข้าวได้อีกด้วย

    

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปูนขาว/ปูนมาร์ล ทำหน้าที่อะไร?

เลือกฤดูกาลปลูกฟักทองให้ขายได้ราคาแพง

9 อุปกรณ์สำหรับวางระบบน้ำด้วยท่อ Pe ที่คนทำเกษตรควรรู้ไว้